User Online ( 6 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » "สงครามสิทธิบัตรโลกไอที" สะเทือนผู้บริโภค?
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

"สงครามสิทธิบัตรโลกไอที" สะเทือนผู้บริโภค?

สงครามสิทธิบัตรใน โลกไอทีดุเดือดมากขึ้น แบรนด์เทคโนโลยีรายใหญ่ทั้งไมโครซอฟท์ แอปเปิล กูเกิล ซัมซุง ต่างเข้าร่วมศึกฟ้องร้องกันนัวเนีย

ล่าสุด ยักษ์ซอฟต์แวร์ "ไมโครซอฟท์" ยื่นคำร้องต่อสหภาพยุโรป (อียู) คัดค้านการซื้อกิจการระหว่าง "กูเกิล" และ "โมโตโรลา โมบิลิตี้" หลังจากคณะกรรมการด้านการแข่งขันของอียู เพิ่งอนุมัติข้อตกลงนี้ไปไม่นาน เช่นเดียวกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่ไฟเขียวข้อตกลงนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ข้อตกลงซื้อโมโตโรลาจะทำให้ "กูเกิล" เจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์แทบเล็ต ได้รับสิทธิบัตรในมือโมโตโรลาราว 17,000 รายการ ซึ่ง "ลาร์รี เพจ" หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของกูเกิล บอกชัดเจน เมื่อตอนประกาศแผนควบรวมในเดือนสิงหาคมว่า นี่จะเป็นเกาะคุ้มกันที่ดีที่สุด ให้กับแอนดรอยด์ ไม่ให้ถูกคุกคามด้านการแข่งขันจากไมโครซอฟท์ แอปเปิล และบริษัทอื่นๆ

การขยับของไมโครซอฟท์ เป็นการเติมเชื้อไฟให้กับสงครามสิทธิบัตรระหว่าง ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี ให้ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง หลังจากแอปเปิลได้ยื่นคัดค้านข้อตกลงเข้าครอบครองกิจการระหว่างกูเกิลและโม โตโรลาไปก่อนหน้านี้ เพราะมองว่า กูเกิลอาจใช้สิทธิบัตรที่ได้มาจากการผนึกกับโมโตโรลาเพื่อสกัดคู่แข่ง โดยเฉพาะสิทธิบัตรมาตรฐาน (SEP) ที่บริษัทเทคโนโลยีระบุว่า มีความจำเป็นในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้เชื่อมต่อกันได้

แนวรบสิทธิบัตรดุเดือดขึ้นมากในระยะหลังมานี้ แม้ว่าประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่านับตั้งแต่ปีที่แล้ว การฟ้องร้องทำนองนี้ เพิ่มจำนวนมากขึ้นและตึงเครียดมากขึ้น เพราะสงครามสิทธิบัตรเดิม พันด้วยธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

"อเล็กซ์ โพลโตรัก" จากบริษัทกฎหมายสิทธิบัตร "เจเนอรัล พาเทนต์ คอร์ปอเรชั่น" ระบุว่า เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้แนวรบสิทธิบัตรร้อนระอุ มาจากการแข่งขันอย่างดุเดือด เพื่อชิงเค้กในตลาดโทรศัพท์มือถือและแทบเล็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลงครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการก๊อปปี้เทคโนโลยีมากขึ้น บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องปกป้องนวัตกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ เพราะสิทธิบัตร เป็นเหมือนเงินสกุลใหม่ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของบริษัท

น่าสนใจว่า การสู้รบในสมรภูมิสิทธิบัตรเข้มข้นมากขึ้น นับตั้งแต่ "กูเกิล" กระโจนจากอาณาจักรอินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ตลาดมือถือ ด้วยการชูธงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับใช้บนสมาร์ทโฟนหลากหลายแบรนด์ ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก

"สตีฟ จ็อบส์" ผู้ก่อตั้งแอปเปิลที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ชอบใจแอนดรอยด์ ที่ลอกเลียนแนวคิดของระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิลไป ถึงกับตราหน้ากูเกิลว่า เป็นจอมขโมยและจะทำทุกวิถีทางเพื่อจัดการกับแอนดรอยด์

นี่ทำให้แอปเปิล เดินหน้าฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตมือถือที่ใช้แอนดรอยด์ นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง โมโตโรลา เอชทีซี และจุดชนวนให้บริษัทเหล่านี้ ฟ้องกลับตามกระบวนการยุติธรรม

ในขณะเดียวกัน กูเกิล ก็มองหาพันธมิตรที่จะช่วยเติมเต็มสิทธิบัตรในมือ ซึ่งคำตอบก็อยู่ที่โมโตโรลา ขณะที่แอปเปิล และไมโครซอฟท์ผนึกกำลังเพื่อซื้อ "นอร์เทล" เพราะไม่ต้องการให้สิทธิบัตรจำนวนมากตกไปอยู่ในความครอบครองของกูเกิล และทางการสหรัฐ ก็อนุมัติข้อตกลงซื้อนอร์เทลในวันเดียวกับที่ไฟเขียวข้อตกลงซื้อโมโตโรลา

"เดวิด ดรัมมอนด์" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกูเกิล พูดถึงเรื่องนี้ว่า สิทธิบัตร อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม แต่ที่สุดแล้ว มันก็อาจถูกใช้เป็นอาวุธ เพื่อยับยั้งนวัตกรรมด้วย แทนที่เราจะแข่งขันกันสร้างฟีเจอร์ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ แต่เรากลับต้องมาต่อสู้กันเรื่องคดีความ

ยักษ์ไอที 2 ขั้วผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ อย่างในเยอรมนี แอปเปิล ชนะคดีฟ้องร้องโมโตโรลา เรื่องฟีเจอร์สไลด์เพื่อปลดล็อก ส่งผลให้โมโตโรลา ต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ส่วนมวยคู่แอปเปิล-ซัมซุง "กาแล็กซี่ แท็บ 10.1" ก็ผลัดกันลุ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างฟ้องร้องกันและกัน เพื่อให้ศาลห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของอีกฝ่าย ทั้งในตลาดเยอรมนี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์

ด้านไมโครซอฟท์ ใช้แนวทางปรองดอง ด้วยการทำข้อตกลง ใช้สิทธิบัตรร่วมกับพลพรรคแอนดรอยด์ ทั้งซัมซุงและเอชทีซี ซึ่งน่าจะทำให้ไมโครซอฟท์ได้เงินราว 444 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ทว่าไมโครซอฟท์ ก็ไม่ปลื้มกับแนวคิดการเรียกผลตอบแทนของโมโตโรลา ซึ่งทุกๆ เครื่องแล็บทอปราคา 1,000 ดอลลาร์ โมโตโรลาเรียกค่าลิขสิทธิ์จากไมโครซอฟท์ 22.5 ดอลลาร์ สำหรับสิทธิบัตร 50 รายการ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานระบบวิดีโอในคอมพิวเตอร์ เพราะหากทุกบริษัทตั้งมาตรฐานราคาแบบเดียวกันนี้ ก็ย่อมทำให้ต้นทุนค่าสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนส่วนอื่นๆ ในการผลิตเครื่องพีซี แทบเล็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ดังนั้น หากโมโตโรลาในมือกูเกิล ไม่เปลี่ยนแนวทางค่าตอบแทนเรื่องสิทธิบัตร ก็ย่อมทำให้อุตสาหกรรมปั่นป่วน

ขณะที่ ผู้บริโภคย่อม ได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากการฟ้องร้องที่นำไปสู่การระงับขายสินค้าในบางตลาด ก็หมายความว่า ทางเลือกของผู้ซื้อจะลดลง และราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น จากต้นทุนสิทธิบัตร รวมถึงจะทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่เกิดขึ้น เพราะสิทธิบัตรหลายรายการค่อนข้างกว้างมาก จึงสุ่มเสี่ยงที่ไอเดียของรายใหม่ๆจะละเมิดลิขสิทธิ์

ทว่าบางฝ่ายมองต่างมุมว่า การแข่งขัน อาจทำให้ราคาโทรศัพท์มือถือลดลง และเมื่อแต่ละบริษัทต้องปกป้องนวัตกรรมของตัวเอง ก็จะช่วยกระตุ้นนวัตกรรมได้
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2024. All rights Reserved.