User Online ( 75 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » คำทำนาย 2012 กับ 3G ประเทศไทย
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

คำทำนาย 2012 กับ 3G ประเทศไทย

แล้ว วันเวลาก็เดินหน้าพาผู้คนก้าวเข้าสู่ปี พ.ศ. 2555 หรือหากจะเรียกให้อินเทร็นด์ก็คือ ค.ศ. 2012 พร้อมกับคำทำนายเกี่ยวกับเรื่องราวของภัยพิบัตินานับประการที่จะโหมเข้า มากระแทกกระทั้นมนุษย์ทั่วโลก แต่สำหรับแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมไทย ปี ค.ศ. 2012 นั้นมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฮเทคนี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นปีที่น่าจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ความถี่หลัก 2.1 GHz อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่ทราบว่าจะไม่ประมูลอีกเพราะอะไรแล้ว”



การที่คลื่นความถี่สัมปทานย่าน 1800 MHz ระหว่างค่าย CAT ซึ่งมีให้กับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย ทั้ง DPC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIS กับ True Move ใน ค.ศ. 2013 ถือเป็นจุดกระทบสำคัญต่อการให้บริการสื่อสารไร้สายกับผู้บริโภคทั่วประเทศ และตามข้อกำหนดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สัญญาสัมปทานเมื่อสิ้นสุดลงแล้วไม่สามารถขอต่ออายุได้ ซึ่งในกรณีนี้ค่าย CAT จะต้องส่งมอบความถี่ย่าน 1800 MHz คืนให้กับ กสทช. เพื่อนำไปทำการประมูลหาผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแปลงสัมปทานเป็นใบอนุญาตดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไป



กสทช. ย่อมทราบดีว่าจุดพลิกผันดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ True Move ในแง่ที่ว่าจะไม่สามารถให้บริการเครือข่าย 2G ความถี่ 1800 MHz ได้ต่อไป แม้ในท้ายที่สุด True Move อาจประมูลความถี่ดังกล่าวกลับมาได้ แต่ด้วยมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุว่าช่วงเวลาระหว่างที่ CAT ต้องส่งความถี่คืนกลับมาให้ กสทช. จนกระทั่งถึงเวลาประมูลความถี่เสร็จสิ้น True Move จะยังคงสามารถใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวให้บริการแก่ประชาชนได้หรือไม่อย่างไร มองไปยังค่าย DPC ซึ่งใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ในส่วนที่ตนได้รับสัมปทานไปเพื่อแบ่งเบาปริมาณการใช้งานของผู้ใช้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ของ AIS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เนื่องจากข้อจำกัดของความกว้างคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS เองที่ไม่อาจรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่มีมหาศาลได้ ยิ่งเมื่อ AIS เปิดให้บริการเครือข่าย 3G ย่าน 900 MHz เป็นทางเลือกชั่วคราวก่อนที่จะมีการเปิดประมูลย่านความถี่ 2.1 GHz อย่างเป็นทางการ ก็ยิ่งทำให้ต้องมีการแบ่งเบาปริมาณการใช้งาน หรือ traffic มายังย่านความถี่ 1800 MHz ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ยิ่งทำให้ย่านความถี่ดังกล่าวของ DPC มีความสำคัญระดับ “หัวใจ” ต่อ AIS การถูกดึงความถี่กลับคืนสู่ภาครัฐเมื่อสิ้นอายุสัมปทานจึงส่งผลกระทบอย่าง รุนแรงต่อกิจการของ AIS อย่างไม่ต้องสงสัย



มา ถึงจุดนี้ ในเมื่อผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อไปถึงบรรดาผู้บริโภค ประกอบกับไม่มีเหตุผลใดๆ อีกต่อไปแล้วที่จะระงับ หรือเลื่อนการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ย่าน 2.1 GHz ฟ้าสีทองผ่องอำไพของการเดินหน้าพร้อมให้บริการ 3G ในประเทศไทยบนความถี่มาตรฐานตามนานาอารยประเทศก็น่าจะเป็นข่าวดีในปี ค.ศ. 2012 ดังที่ทุกคนรอคอย แต่หนทางทุกเส้นก็ย่อมต้องมีขวากหนามอยู่ร่ำไป เทเลคอม เจอร์นัล ขอ ทำตัวเป็นหมอดูภัยพิบัติแห่งแวดวง 3G ไทยในปี 55 ที่จะเกิดขึ้น โดยประมวลเสียงกระซิบกระซาบ และทฤษฎีลับหลายๆ ประการที่ได้สดับรับฟังมาในซอกมุมเล็กของธุรกิจโทรคมฯไทยมาประมวลเป็น ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นประมูล 3G แม้ใจจะเชียร์ขอให้อย่าเกิดสิ่งที่จะทำนายต่อไปนี้เลยก็ตาม




* ทฤษฎีที่ 1 : มีผู้กล่าวว่า AIS แม้เป็นผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้ามากที่สุด มีความแข็งแกร่งทางการเงินที่สุด ผนวกกับการมีพันธมิตรที่ทรงพลังอย่างค่าย SingTel แต่ AIS ก็มีจุดอ่อนสำคัญทางเทคนิคติดตัวมาตั้งแต่วันที่เริ่มรับสัมปทาน ในเรื่องของย่านความถี่ที่มีเพียงย่านเดียวคือ 900 MHz แถมมีอยู่เพียง 17.5 MHz ถือเป็นเรื่องท้าทายในการออกแบบวางแผนคลื่นความถี่อย่างสาหัส เพื่อที่จะให้รองรับผู้ใช้บริการมากกว่า 30 ล้านคนได้ในปัจจุบัน ยิ่งเมื่อต้องตัดสินใจตัดความถี่ส่วนหนึ่ง (5 MHz) ไปใช้ให้บริการ 3G ทางเลือกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้การวางแผนความถี่ลำบากมากขึ้น การใช้ย่านความถี่ 1800 MHz ของบริษัทลูกอย่าง DPC เพื่อผ่องถ่ายการให้บริการก็เป็นระเบิดเวลาที่จะหมดอายุสัมปทานลงในอีกไม่ ถึง 2 ปีข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้นสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz ของ AIS ที่มีอยู่กับค่าย TOT เองก็จะสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 การลงทุนใดๆ ของ AIS เองนับจากนี้ไป หากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องใบอนุญาต 3G ย่าน 2.1 GHz ก็จะเท่ากับว่าเป็นการลงทุนในกรอบสัมปทานที่ต้องโอนสินทรัพย์ให้กับ TOT ด้วยอายุสัมปทานที่เหลืออยู่ไม่มาก ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับ AIS ในแง่ของค่าเสื่อมราคา มองในแง่ของผู้ไม่หวังดี การสกัดมิให้การประมูล 3G ย่าน 2.1 GHz เกิดขึ้น หรือเลื่อนเวลาการประมูลออกไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นการทำให้ยักษ์ใหญ่ตนนี้ซวนเซมากขึ้นเรื่อยๆ



* ทฤษฎีที่ 2 : ค่าย True Move นั้น ถูก “จับตา” มองเป็นอันดับต้นๆ ในปริบทของ 3G ในยามนี้แม้จะยังไม่อาจเรียกว่าแข็งแกร่งราวเสือติดปีก แต่ True Move ก็มีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส ภายหลังจากที่สร้างดีลมหัศจรรย์เข้าซื้อกิจการของค่าย Hutch พร้อมได้รับสิทธิ์ในการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz ทั้งบนย่านของ Hutch และย่านเดิมที่ตนได้รับสิทธิ์ใช้ในการ “ทดสอบ” จากค่าย CAT ประกอบกับการโหมลงทุนสร้างเครือข่าย 3G บนย่านความถี่ 850 MHz แบบไม่ยั้งมือ “ราวกับ”ไม่สนใจจะเข้าประมูล 3G บนย่านความถี่หลักอย่าง 2.1 GHz การลงทุนแบบนี้ ประกอบการแผนการตลาดที่รุกคืบสร้างฐานลูกค้า 3G อย่างรุนแรง แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องความหลากหลายของเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ Smart Phone ที่อาจจะมีเครื่องรองรับเทคโนโลยี 3G ความถี่ 850 MHz ไม่มากเท่ากับบนคลื่นความถี่ 3G ย่าน 900 MHz แต่ True Move ก็ย่อมทราบดีว่าในไม่ช้าตลาดผู้ผลิตก็จะมีการพัฒนาให้เครื่องลูกข่ายรุ่น ใหม่ๆ รองรับย่าน 850 MHz โดยปริยาย เรื่องนี้ทำให้เกิดทฤษฎีว่า หากเกิดเหตุใดๆ ก็ตามจนทำให้มีการเลื่อนประมูล 3G ย่าน 2.1 GHz งานนี้ True Move จะได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ ด้วยกติกาง่ายๆ ว่าออกตัวก่อน แถมออกตัวแรงกว่าคู่แข่งยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ย่อมกวาดฐานลูกค้าไปได้ก่อน ส่วนจะกวาดลูกค้าชั้นดี ชั้นกลาง หรือระดับล่างนั้น ระดับมากน้อยกว่ากันก็สุดแท้แต่ยุทธศาสตร์ของ True Move





* ทฤษฎีที่ 3 : ลือกันนักหนา ว่าการลงทุน 3G ย่าน 2.1 GHz ของ TOT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสิทธิ์ให้บริการความถี่ดังกล่าว โดยไม่ต้องผ่านการประมูล เป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้การประมูลความถี่ย่าน 2.1 GHz ต้องล่าช้าออกไป แหล่งข่าวกล่าวว่าสาเหตุเนื่องมาจากผลประโยชน์อันมหาศาลที่เกิดจากการลงทุน ในโครงการดังกล่าว ทำให้กลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องสนใจที่จะขยายเครือข่าย 3G ของ TOT ต่อไป แม้จะทราบดีว่าโครงการติดตั้งเครือข่าย 3G ทั่วประเทศของ TOT ในปัจจุบันประสบกับข้อจำกัดในเรื่องของการหาสถานที่ตั้งสถานีฐาน ซึ่งแม้ในทางทฤษฎี TOT มีทางเลือกในการเจรจาขอใช้สถานที่ร่วมกับ AIS ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัมปทานของตน แต่ในความเป็นจริง สถานีฐานของ AIS จำนวนมากก็ไม่มีพื้นที่รองรับสถานีฐาน 3G ของ TOT ได้ จนเป็นเหตุให้มีข่าวว่า TOT ตัดสินใจอนุมัติให้สามารถเลือกเช่าสถานีฐานของผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมิใช่ คู่สัมปทานของตนเอง เพื่อเร่งให้มีการเปิดให้บริการ 3G ของตนได้อย่างรวดเร็วและไม่เกิดพื้นที่โหว่ในการให้บริการ หลายคนอาจมองว่านี่เป็นการแสดงสัญญาณความขัดแย้งระหว่าง TOT และ AIS จะมองอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความคล่องตัวที่มีมากขึ้นในการวางและขยายเครือข่าย 3G ของ TOT เมื่อสร้างง่าย สร้างคล่อง ก็ย่อมมีแรงผลักดันที่จะขยายเครือข่ายต่อไป เรื่องนี้ฟังดูไม่น่าเกี่ยวข้องกับการทำให้การประมูล 3G ย่าน 2.1 GHz สำหรับผู้ประกอบการเอกชนต้องติดขัด หากมิใช่เพราะเสียงกระซิบลือในเรื่องเดิมๆ ที่ว่า หากเอกชนประมูลคลื่น 3G ย่าน 2.1 GHz ได้ ก็ย่อมต้องหันไปสร้างเครือข่ายของตนเอง เม็ดเงินส่วนแบ่งสัมปทานที่ส่งคืน TOT ย่อมหายไปอย่างมหาศาล แล้ว TOT จะใช้เงินจากที่ใดมาลงทุนสร้างเครือข่าย 3G ของตนเอง... เรื่องนี้ฟังกี่ครั้งแล้วก็ยังเป็นถ้อยทำนองเดิม อาจต้องฟังหูไว้หู แล้วจับตาดูต่อไป





* ทฤษฎีที่ 4 : เกี่ยวโยงกลับไปสู่ True Move อีกครั้งหนึ่ง มีผู้รู้ในวงการโทรคมฯไทยเชื่อว่า แม้ในปัจจุบัน ดีลมหัศจรรย์ของ True Move กับ CAT ในเรื่องของสัญญาการให้บริการ 3G บนย่านความถี่ 850 MHz ที่เดิมค่าย Hutch ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ทำการตลาดระบบเครือข่าย CDMA ให้กับ CAT จะยังคงสภาพเป็นสัญญาสีเทาๆ รอการตีความทางกฎหมาย และอาจเรียกได้ว่า True Move ทำธุรกิจอยู่บนสัญญาที่มีความเสี่ยงทางกฎหมายอยู่ แต่หากเมื่อใดทาง กสทช. มีการออกข้อกำหนดและใบอนุญาต MVNE หรือ Mobile Virtual Network Enabler ซึ่งหมายถึงการที่หน่วยงานผู้ได้รับใบอนุญาตนี้สามารถลงทุนสร้างเครือข่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เอง แม้ตนจะไม่มีอนญาตการให้บริการความถี่ก็ตาม หากแต่สามารถทำสัญญาเพื่อรับสิทธิ์ในการลงทุนและให้บริการจากอีกหน่วยหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิ์ในการถือครองความถี่แต่ไม่ประสงค์จะลงทุนและทำตลาดเอง ก็จะเป็นเงื่อนไขอำนวยให้ บริการ True Move กลายเป็นสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ไปได้ด้วยดี





DTAC นับเป็นผู้ประกอบการที่มีผลต่อหมากในกระดานนี้ไม่มากนัก เนื่องจากอายุสัมปทาน 2G ย่านความถี่ 1800 MHz ของตนที่มีกับ CAT กว่าจะหมดอายุก็ปาเข้าไป ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) และในปัจจุบันก็ได้รับสิทธิ์ในการทดลองเปิดให้บริการ 3G ย่านความถี่ 850 MHz จาก CAT เช่นเดียวกับที่ True Move ได้รับ แม้จะไม่มีดีลมหัศจรรย์เฉกเช่นเดียวกับ True Move ก็ตาม ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่ว่า DTAC จะไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการคงอยู่หรือการเกิดโรคเลื่อนสำหรับการประมูล 3G ย่านความถี่ 850 MHz หากแต่ด้วยอายุสัมปทานที่เหลืออยู่นานกว่าค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง AIS ผลกระทบในระยะสั้นย่อมมีแต่ไม่รุนแรงเท่า



ทฤษฎี ต่างๆ เหล่านี้จะจริงหรือเท็จหรือมีความคลาดเคลื่อนมากน้อยเพียงใด TJ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน หากนำความทั้งหมดมาประติดประต่อกัน และทำการประมวลผลเพื่อประเมินสถานการณ์ทำนายอนาคตของการประมูลใบอนุญาตความ ถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz ก็พาให้หวั่นใจไปไม่ได้ว่า ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวอาจกำลังส่งผลให้เราได้เห็นภาพเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งแล้วกับการประมูลย่านความถี่ดังกล่าว ไม่มีใครตอบได้ว่าจะไม่มีการฟ้องร้องไม่ว่าจะหยิบยกแง่มุมประเด็นใดขึ้นมา ทั้งก่อน และระหว่างกระบวนการประมูลหรือไม่ ไม่มีผู้ใดรับประกันว่าจะไม่มีการนำเรื่องของสัญชาติต่างด้าวของผู้ถือหุ้น มาเป็นประเด็นในแง่คุณสมบัติของผู้ประมูล แต่ที่แน่ชัดก็คือ ระเบิดเวลาที่กำลังส่งผลต่อผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นสัจธรรมที่ไม่อาจเปลี่ยน แปลงได้ และเป็นเรื่องที่คู่แข่งแต่ละรายทราบกันดีอยู่




เช่น เดียวกับคำทำนายเรื่องภัยพิบัติทั้งหลายบนโลกใบนี้ หมอดูร้อยละร้อย ย่อมนำข้อความรวมถึงทฤษฎีต่างๆ มานำเสนอ แต่จะไม่บังอาจฟันธงลงไป เพราะใดๆ ในโลกนี้ย่อมไม่แน่แท้ บางครั้งเมื่อเตือนแล้ว ผู้คิดร้ายสะดุ้ง ผู้รับเคราะห์รู้ตัว ต่างฝ่ายต่างระมัดระวัง ปรับเปลี่ยนแผนและยุทธวิธี ร้ายอาจกลายเป็นดี เทเลคอม เจอร์นัลในฐานะที่ดำเนินธุรกิจสื่อ มิใช่นักพยากรณ์ทำนายทายทัก ก็ย่อมไม่อาจฟันธงสรุปเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อการประมูลคลื่น 3G ในประเทศไทยได้ เพียงแต่ทำหน้าที่สื่อด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการพัฒนาบนธุรกิจสื่อสาร ไทยเฉกเช่นนานาประเทศ ทิ้งท้ายด้วยคำพูดที่มาจากใจลึกๆ ว่า “อยากได้ 3G เต็มรูปแบบใจจะขาด... 3G for Thailand in 2012 Please…”
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2024. All rights Reserved.