User Online ( 1 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » สึนามิไอที กวาดเทคโนฯเก่าก้าวสู่ยุคใหม่
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

สึนามิไอที กวาดเทคโนฯเก่าก้าวสู่ยุคใหม่

ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไอซีทีกำลังเกิดขึ้นทั้งระบบ และเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือบริการซึ่งสามารถสัมผัสได้อย่างแจ่มชัดขึ้นทุกวัน กระแสสมาร์ทโฟน แทบเล็ตที่เบียดแซงอัตราการเติบโตของฮาร์ดแวร์อื่นๆ หรือการสร้างกิจกรรม ทำธุรกรรมบนก้อนเมฆ (คลาวด์ คอมพิวติ้ง) โซเชียล เน็ตเวิร์ค แรงจนแทบละลายกระแสอื่นให้เจือจาง วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความเห็นของปรมาจารย์ตลาดไอทีมาแบ่งปันกันรับรู้

นายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสวีโอเอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไอทีจะเปลี่ยนไป เป็น โมบิลิตี้ ไอที โปรดักท์ สมาร์ทโฟน และแพดทั้งหลายกำลังเคลื่อนมาครองพื้นที่ ใช้งานได้ทั้งติดต่อกับทางบ้าน หรือออฟฟิศผ่านอินเทอร์เน็ต ช่วงเวลาที่เคลื่อนย้ายต้องการรับข้อมูลซึ่งอยู่ในเว็บเบสด์ ไม่ต้องประมวลผล หรือคำนวณข้อมูล จึงไม่ต้องใช้พีซีกำลังแรง ขณะที่พีซีธรรมดา จะใช้ในออฟฟิศหรือบ้าน ไม่ต้องเคลื่อนย้ายมาก ทำให้พีซียังมีตลาด แต่ แพด และสมาร์ทโฟนเพิ่งเปิดตลาดอัตราเติบโตยังสูง

หากเครื่องตั้งโต๊ะจะได้เปรียบเรื่องการเป็นระบบเปิด ความสามารถอัพเกรดได้มีสูง และคอมแพลตทิบิลิตี้ เช่น เมโมรีไม่พอก็เพิ่มได้ หรือจะเพิ่มกราฟฟิก การ์ด เปลี่ยนซีพียู ทำให้มีโอกาสฟื้นกลับได้ ขณะที่โน้ตบุ๊คจะลำบากกว่า เพราะผลิตขึ้นในระบบปิด การเพิ่ม การขยายทำได้น้อยมาก ราคาสูง และไม่มีทางออก

ขณะที่ ปรากฏการณ์แอ๊ปเปิ้ล เอฟเฟคท์ จะเป็นอย่างนี้ไปอีก 5 ปี ผู้ใช้ต่างต้องการมีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์แอ๊ปเปิ้ล เรียกได้ว่า สินค้าอะไรถ้าติดแบรนด์แอ๊ปเปิ้ลล้วนกระแสแรง ปากต่อปาก และข่าวสารข้อมูลที่ออกมา ทำให้ผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ลชิงส่วนแบ่งตลาดไปจำนวนมาก ทั้ง แทบเล็ต ไอแมค ไอบุ๊ค ไอโฟน

อีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดก็มีสิทธิเปลี่ยน ผู้ชนะวันนี้ในอุตสาหกรรมไอ ซีทีอาจไม่ชนะตลอดไป กูเกิลก็พัฒนาแอนดรอยด์ 3 นอกจากใช้งานในโทรศัพท์มือถือ ต่อไปอาจไปอยู่ในเดสก์ทอปด้วย ทำให้ผู้ใช้มีช่วงกว้างการเรียนรู้ลดลง หรือไมโครซอฟท์ที่จะไม่ยอมสูญเสียตลาดไปง่ายๆ พยายามออกวินโดว์ส โฟน 7 และยังร่วมมือกับโนเกียพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งไมโครซอฟท์มีเทคโนโลยีมาก ไม่สามารถมองข้ามไปได้ รายใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดเป็นแอพพลิเคชั่นมากกว่า เช่น เฟซบุ๊ค แต่บริษัทที่มีโอเอส อย่าง ไมโครซอฟท์ และ แอ๊ปเปิ้ล มีน้อย ถ้ามีผลิตภัณฑ์และแอพพลิเคชั่นที่ใช่ การเผยแพร่ข้อมูลจะไปเร็วมาก

ดังนั้น การสร้างอุตสาหกรรม และความสำเร็จจะเร็ว ทั้งยังยิ่งใหญ่มาก เป็นยุคของคนพัฒนาเว็บ แอพพลิเคชั่น จึงต้องการเห็นรัฐบาลส่งเสริมเว็บ แอพพลิเคชั่น ที่มีตลาดทั่วโลกอยู่ในมือ พอเพียงมีผลิตภัณฑ์ที่ดีและวิธีทำให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งรัฐบาลควรศึกษา และสร้างเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับ 3 บริษัท คือ แอ๊ปเปิ้ล กูเกิล เจ้าของแอนดรอยด์ และไมโครซอฟท์ เพื่อพัฒนาจุดนี้ โดยใช้ความได้เปรียบด้านความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่สูงในคนไทย ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนสภาพไอทีไทยค่อนข้างมาก

เดสก์ทอปกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อมองจากการใช้งาน โมบิลิตี้ กับ โปรดักทิวิตี้ จะแยกกันอย่างเห็นชัดเจน การใช้งานเดสก์ทอปในบ้านต้องเป็นจอใหญ่ ทำอินโฟเทนเมนท์ หากมี 3จี ดิจิทัล คอนเทนท์ และทีวีครอบก็ทำออนไลน์ได้ ทุกคนดูจากเดสก์ทอปได้ด้วยจอขนาด 22 หรือ 27 นิ้วขึ้นไป

นายวีระ กล่าวว่า เอสวีโอเอ เห็นโอกาสการกลับมาอีกรอบของเดสก์ทอป จากความเฟล็กซิบิลิตี้ของเดสก์ทอป จึงจะเสนอความหลากหลายจากเอ็นทรี เลเวล ถึง ไฮเอนด์ ให้ลูกค้าเลือก โดยเน้นอินโฟเทนเมนท์ในบ้าน และ ออฟฟิศ แต่ไม่ทำโมบิลิตี้ เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่ถนัด ธุรกิจนี้เป็นของผู้สร้างผลิตภัณฑ์ อย่าง แอ๊ปเปิ้ล โนเกีย หรือ ซัมซุง และผู้ประกอบธุรกิจบริการอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หรือ ไอ-โมบาย

เดลล์แนะเปลี่ยนวิธีคิดรับไอทียุคใหม่

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์รับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไอที ที่ก้าวสู่ยุคที่เรียกว่า ไอที คอนซูเมอร์ไรเซชั่น หรือการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในโลกยุคใหม่

ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไอทีเปลี่ยน แปลง และทำให้ผู้ค้าต้องเร่งปรับตัวมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเกิดขึ้นของดิจิทัล ดีไวซ์ เช่น แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 2.การเกิดขึ้นและการแพร่หลายของโซเชียล เน็ตเวิร์ค และ 3.เส้นแบ่งของการทำงานที่บ้าน และสำนักงานลดลง เพราะปัจจุบันสามารถทำงานได้ทุกที

"เดลล์เอง รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ ที่ผ่านมาจึงมีโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ อย่างแทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีโซลูชั่นด้านคลาวด์ ไปจนถึงโซลูชั่นสำหรับเครื่องผู้ใช้เอง เดลล์เองไม่ได้ยึดว่าจะต้องขายโน้ตบุ๊คอย่างเดียว แต่เราพัฒนาโซลูชั่นในแบบมัลติแพลตฟอร์มมากขึ้น"

นายอโณทัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมไอทีครั้งนี้เหมือน "สึนามิ" ที่พร้อมจะกวาดทุกอย่าง หากไม่มียุทธศาสตร์ตั้งรับ ซึ่งทั้งอุตสาหกรรมไอที ตั้งแต่ผู้ใช้งาน จนถึงผู้ค้า ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมด

"การ์ทเนอร์ คาดการณ์โดยระบุว่า อีก 3 ปีข้างหน้า โน้ตบุ๊ค และพีซี จะถูกกินตลาดโดยแทบเล็ต และสมาร์ทโฟนกว่า 20% ดังนั้น เดลล์จึงต้องมียุทธศาสตร์ตั้งรับ และรุกไปพร้อมกัน ความต่างของเรา ไม่ได้ทำแค่พีซี โน้ตบุ๊ค แต่เรามีเอ็นด์ทูเอ็นด์โซลูชั่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ให้ได้ครบ" นายอโณทัย กล่าว



วงการเร่งปรับตัวหาจุดขายใหม่



นายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสวีโอเอ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะทำเซอร์วิส ทั้งโปรดักทิวิตี้ เซอร์วิส และโมบิลิตี้ เซอร์วิส เมื่อมีสาขาบริการครอบคลุม และระบบจัดการที่ดี บุคลากรมีคุณภาพ ผลงานดี

"เอสวีโอเอ ทำมากว่า 20 ปี เป็นเซอร์วิส พาร์ทเนอร์ให้หลายแบรนด์ รวมทั้งองค์กรใหญ่ ด้วยรีไควเมนต์หลายแบบ 7 คูณ 24 หรือ 5 คูณ 8 การติดตั้งระบบให้องค์กร นำประสบการณ์ที่สะสมมาบริหารจัดการ และเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ รวมทั้งให้บริการลูกค้าร่วมกัน"

ปัจจุบันบริษัทกำลังลงทุนพัฒนางานบริการ ด้านเทคโนโลยีทำให้ระบบงานเชื่อมโยงกันทั้งที่เป็นพีซี เบสด์ และโมบาย เบสด์ ทำระบบมอนิเตอริ่ง เซอร์วิส ออนไลน์กับพาร์ทเนอร์ เพิ่มคนจาก 300 เป็น 500 คน จัดอบรมและให้ใบรับรอง โดยให้บริการเครื่องถึงระดับเซิร์ฟเวอร์ รวมทั้งตู้เอทีเอ็ม อนาคตจะขยายถึงสมาร์ทโฟน และแพดต่างๆ

เขา กล่าวถึงข้อดีของการทำงานบริการว่า ไม่เสี่ยงเรื่องลูกหนี้ เพราะเป็นการจ่ายตามบริการ ทำสัญญาต้องจ่ายทุกเดือน ไม่จ่ายก็จบ ยอดขายอาจยังไม่มากประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี แต่กำไรสุทธิประมาณ 50% ต่างจากขายฮาร์ดแวร์ที่ กำไรเหลือประมาณ 1% และมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดเป็น 200-300 ล้านบาทในปีหน้า จากความต้องการที่มีมากของตลาด และเชื่อว่าบริษัทอื่นๆ จะขยายสู้ได้ยากเพราะต้องลงทุนอีก 5-10 ล้านบาท และสร้างทีมซึ่งต้องใช้เวลาต่างจากบริษัทที่มีพื้นฐานมานาน

ด้าน นายวิกร วิวิธคุณาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีคอม กรุ๊ป ระบุว่า บริษัทกำลังปรับนโยบายการจัดจำหน่ายสินค้า โดยจะเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น เข้ากับความต้องการของตลาด โดยได้เตรียมนำเข้าแทบเล็ต 2-3 แบรนด์มาจำหน่าย เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าตลาดล่าง

นอกจากนี้ยังได้ปรับกลยุทธ์ในปีนี้ โดยเน้นการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย พร้อมกับมุ่งทำตลาดต่างจังหวัดอย่างหนัก เพื่อเปลี่ยนสัดส่วนรายได้จากกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดเท่ากันที่ 50% เป็นต่างจังหวัดกว่า 60% ทั้งยังมีแผนพัฒนาศักยภาพตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ 2 พันรายให้แข็งแกร่งขึ้น และอาจจะขยายเพิ่ม แต่ไม่เกิน 5% ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 20-40% รายได้ 6-7 พันล้านบาท

ส่วนมุมมองของตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ "เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น" ให้ความเห็นว่า แม้วงจรธุรกิจไอทีจะ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทเชื่อว่าจะไม่กระทบกับผลประกอบการ เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจมานาน ทำให้ประมาณการทิศทางความต้องการผู้บริโภคได้ และเท่าทันการพัฒนาของเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไอทีเหมือนกันก็เข้าใจทิศทางธุรกิจทำให้ไม่เกิดสงครามราคากันเหมือนที่ผ่านมา
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2025. All rights Reserved.