กสทช.เล็งเพิกถอนใบอนุญาต เอาผิดค่ายมือถือไม่มีมาตรฐาน
กสทช.เร่งหาช่องทางกฏหมายลงโทษ จี้โอเปอเรเตอร์เร่งปรับปรุงโครงข่าย ชี้หากจะอัพเกรดระบบต้องแจ้งก่อน
กสทช. เร่งหาช่องกฎหมายลงโทษค่ายมือถือ หลังยอมรับสัญญาณมือถือประสิทธิภาพต่ำลงเพราะไม่ยอมลงทุนเน็ตเวิร์ก รอประมูล 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์อย่างเดียว เดินหน้าส่งหนังสือเตือนผู้ให้บริการทุกราย อัพเกรดระบบต้องแจ้งกสทช.ก่อน ขณะที่ผลสอบเน็ตเวิร์คดีแทคภาคใต้ล่มชี้ชัดชุมสายใช้งานปกติ สั่งดีแทคชี้แจงรายละเอียดอีกรอบ ด้าน "เทเลนอร์" รับเน็ตเวิร์คล่มปัญหาใหญ่ เร่งดีแทคแก้ปัญหาโดยเร็ว
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาต (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเบื้องต้น ทุกรายยอมรับว่า ประสิทธิภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือด้อยคุณภาพลง
วางบทลงโทษ "เพิกถอนใบอนุญาต"
เนื่องจาก ช่วงที่ผ่านมา ไม่มีการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายโทรคม เพราะรอเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนแม่บทคลื่นความถี่ โดยคาดว่าในไตรมาส 3 ปี 2555 จะเปิดประมูล 3จี ได้
ทั้งนี้ ประเด็นสัญญาณมือถือของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ล่มใช้งานไม่ได้ถึง 3 ครั้ง ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ กสทช.ต้องเร่งแก้ โดยไตรมาสแรกปี 2555 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายต้องปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมให้มี ประสิทธิภาพ เพราะกสทช.จะทดสอบสัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่างเข้มข้น หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน กสทช.จะมีบทลงโทษ เริ่มตั้งแต่แจ้งตักเตือน ปรับ และขั้นร้ายแรงคือเพิกถอนใบอนุญาต
“กสทช.ไม่ต้องการถูกเรียกว่าเป็นเสือกระดาษ ฉะนั้นก็ต้องเร่งหาช่องทางตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสัญญาโทรศัพท์ขัดข้องซ้ำซาก เพราะผู้บริโภคเดือดร้อน”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานกสทช.อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขประกาศมาตรฐานคุณภาพการ ให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้รัดกุม สามารถลงโทษผู้รับใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพคุณภาพ การให้บริการได้ เพราะปัจจุบันทำได้เพียงการแจ้งหนังสืออย่างเป็นทางการให้ปรับปรุงและรายงาน ให้กสทช.รับทราบเท่านั้น
โดยในสัปดาห์นี้ จะทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม ว่า หากจะปรับปรุงการให้บริการ เช่น โอนย้ายฐานลูกค้า การอัพเกรดโครงข่าย ที่อาจกระทบต่อลูกค้าต้องแจ้งให้ กสทช.รับทราบ รวมถึงเตรียมแผนดำเนินงานและแจ้งให้ลูกค้ารับทราบด้วย
ผลสอบกสทช.ยันเอ็มเอสซีปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บันทึกข้อความของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง ผลการตรวจสอบชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของดีแทค จ.สุราษฎร์ ธานี เลขที่ ทช 2242/2555 วันที่ 8 ม.ค.2555 ตามคำสั่งของสำนักงานกสทช.ได้สั่งการให้กสทช.เขต 12 นครศรีธรรมราช ตรวจสอบชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย สวิตท์ชิ่ง เซ็นเตอร์ หรือ เอ็มเอสซี) เพื่อหาข้อเท็จจริง กรณีที่เน็ตเวิร์คดีแทคไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
นายสมคิด นาคะพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานกสทช.เขต 12 (นครศรีธรรมราช) ได้แจ้งมายังเลขาธิการกสทช.ว่า เขาพร้อมด้วยนายชาญณรงค์ แพรกปาน นายอภิเชษฐ์ ห่อหุ้ม และนายบัญชา พุทธศุภะ พนักงานกสทช.ได้เดินทางไปตรวจสอบชุมสายเอ็มเอสซีของดีแทค ที่จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมโชค เต็งรัง ตำแหน่ง แมนเนจเจอร์ เซอร์วิส แอนด์ คิวเอ เซาท์ ดีแทค เป็นผู้นำตรวจ
ผลปรากฎว่า ชุมสายเอ็มเอสซีของดีแทคใช้อุปกรณ์ของ โนเกีย ดีเอ็กซ์ 2000 และ โนเกีย เอ็มเอสเอส ซึ่งอุปกรณ์ทำงานได้ตามปกติ และนายสมโชคได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ชุมสายโทรศัพท์ที่จ.สุราษฎ์รฯ จะรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของชุมสายเท่านั้น ส่วนระบบควบคุมซอฟต์แวร์ดีแทคส่วนกลาง เป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด
ด้านนายฐากร กล่าวว่า ผลตรวจสอบของ กสทช.มีข้อมูลชัดเจนว่า ระบบเอ็มเอสซีของดีแทคในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหายตามที่ดีแทค กล่าวอ้างในเบื้องต้น แต่กสทช.ยังไม่ฟันธงว่า ดีแทคเป็นผู้แจ้งข้อมูลเท็จ เพราะจะให้โอกาสดีแทคทำหนังสือรายงานอย่างเป็นทางการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นวัน ที่ 5 ม.ค.กลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง ในส่วนของสำนักงานกสทช.จะนำรายงานดังกล่าว เข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.ในวันนี้ (11 ม.ค.)
เทเลนอร์รับเครื่อข่ายล่มเรื่องใหญ่
นายเกลน แมนดาลี ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร เทเลนอร์เอเชีย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายของดีแทค เกิด จากความพยายามที่จะอัพเกรดระบบเพื่อให้บริการ 3จี แก่ลูกค้า และดีแทคจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ใขเนื่องจากเป็นปัญหาเรื่องของการ ปฏิบัติการ
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่เทเลนอร์ยังคงมีความเชื่อมั่นในผู้บริหารดีแทค และมั่นใจว่าดีแทคกำลังดำเนินการทุกอย่างเพื่อลดผลกระทบหรือที่เกิดขึ้นกับลูกค้า" นายแมนดาลี กล่าว
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทเทเลนอร์ ระบุว่า ปัญหาเครือข่ายล่มของดีแทคในไทยครั้งนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นประเทศแรกที่เจอปัญหาดังกล่าว โดยประเทศอื่นที่เทเลนอร์เข้าไปลงทุนไม่เคยเจอปัญหาในลักษณะนี้
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า นายซิกเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ เอเชีย และซีอีโอ ยูนินอร์ อินเดีย จะเดินทางมาประเทศไทยในสัปดาห์หน้านี้ด้วย